แชร์

ประโยชน์จาก "อ้อย" ที่มากกว่าการให้ความหวาน

237 ผู้เข้าชม

อย่างที่ทราบกันดีค่ะว่า "อ้อย คือวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตน้ำตาล"

แต่หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่า ส่วนที่เหลือจากการทำน้ำตาลนั้น แทบทุกส่วนของอ้อยตั้งแต่ยอดจนถึงราก ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น แต่ส่วนที่นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด เห็นจะได้แก่ ส่วนของลำต้น ซึ่งทำหน้าที่เก็บน้ำตาลไว้นั่นเอง วันนี้เราเลยอยากพาทุกท่านมาดูเส้นทางของอ้อยกันค่ะ ว่าออกจากไร่แล้ว "อ้อยได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์อะไรบ้าง



สรรพคุณทางสมุนไพรของอ้อย

สำหรับตำราแพทย์แผนไทยนั้น จะใช้ อ้อยเป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ รักษาหนองใน ขับนิ่ว ใช้ขับเสมหะ อ้อย นั้นสามารถใช้ประโยชน์ทางยาได้ตั้งแต่ ราก และลำต้น ซึ่งรายละเอียด ดังนี้


รากอ้อย ใช้นำมาเป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยขับเสมหะ ช่วยแก้หืด แก้ไอ ช่วยแก้ไข้ ช่วยรักษาเลือดลม ช่วยบำรุงโลหิต ช่วยบำรุงร่างกาย รักษาอาการอาการอ่อนเพลีย รักษาอาการผอมแห้งหิวและหอบไม่มีเรี่ยวแรง ช่วยบำรุงโลหิตระดูของสตรี

ลำต้นอ้อย ใช้นำมาช่วยรักษาแผลพุพอง เป็นยาขับปัสสาวะ ช่วยแก้อาการท้องผูก ช่วยบำรุงกระเพาะอาหาร ช่วยแก้อาการเจ็บคอ ช่วยขับเสมหะ ช่วยรักษาโรคไซนัส ช่วยแก้หืด แก้ไอ ช่วยแก้ไข้ ช่วยทำให้เจริญอาหาร ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยรักษาเลือดลม ช่วยบำรุงร่างกาย รักษาอาการอาการอ่อนเพลีย รักษาอาการผอมแห้งหิวและหอบไม่มีเรี่ยวแรง ช่วยบำรุงโลหิตระดูของสตรี ช่วยรักษาโรคงูสวัด
เปลือกของต้นอ้อย ช่วยแก้ตานขโมย รักษาโรคปากเป็นแผล

การนำอ้อยมาใช้ประโยชน์

สำหรับ ประโยชน์ของอ้อย นั้น เราสามารถแบ่งประโยชน์ของอ้อยออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ประโยชน์การใช้โดยตรงจากอ้อย และการใช้อ้อยด้านอุตสาหกรรม ซึ่งรายละเอียดดังนี้



การใช้ประโยชน์โดยตรง

1. ใช้เป็นอาหารมนุษย์

ส่วนของลำต้นที่เก็บน้ำตาล สามารถนำมาเป็นอาหารของมนุษย์ได้ เช่น ทำเป็นอ้อยควั่น หรือบีบเอาน้ำอ้อย เพื่อบริโภคโดยตรง หรือทำเป็นไอศกรีม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้ลำต้นประกอบอาหาร เช่น ต้มเค็มปลาได้อีกด้วย

2. ใช้เป็นอาหารสัตว์

ใบ ยอด และส่วนของลำต้นที่ยังอ่อนใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น วัวควายได้โดยตรง แต่ถ้าต้องการให้ได้ผลดี ควรใช้วิธีหมัก ก่อนให้สัตว์กิน โดยใช้ยอดสด ๑๐๐ กิโลกรัม กากน้ำตาล ๕ กิโลกรัม แอมโมเนียมซัลเฟต ๑ กิโลกรัม และน้ำ ๑ กิโลกรัม

3. ใช้เป็นเชื้อเพลิง

ในอนาคตเมื่อเชื้อเพลิงที่ได้จากไม้หายาก ใบอ้อยแห้ง (trash) อาจจะเป็นแหล่งของพลังงาน และเชื้อเพลิงที่สำคัญ ทั้งนี้ เพราะใบอ้อยแห้ง ให้พลังงานค่อนข้างสูงมาก กล่าวกันว่า คุณค่าของพลังงานที่ได้จากใบอ้อยแห้ง ของอ้อยที่ให้ผลผลิตไร่ละ 16 ตัน นั้นเพียงพอสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง ทำงานได้ถึง ๘๐ ชั่วโมง ในปัจจุบันใบอ้อยแห้งถูกเผาทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย ใบอ้อยเหลือภายหลังตัดใช้เป็นวัตถุคลุมดิน ซึ่งจะเน่าเปื่อยเป็นปุ๋ยต่อไป

4. ใช้เป็นวัตถุคลุมดิน หรือบำรุงดิน

ใบอ้อยแห้งเมื่อใช้คลุมดินจะช่วยรักษาความชื้น และป้องกันวัชพืชด้วย ในขณะเดียวกัน ก็จะกลายเป็นอาหารของจุลินทรีย์ต่างๆ ซึ่งบางพวกสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ ทำให้ไนโตรเจนในดินเพิ่มขึ้น อันเป็นผลดีแก่อ้อย นอกจากนี้รากและเหง้าที่อยู่ในดิน เมื่อเน่าเปื่อยผุพัง ก็จะเป็นปุ๋ยแก่ดินนั้นต่อไป


การใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม

เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลนั่นเอง ในทางเคมีน้ำตาลส่วนใหญ่ที่ได้จากอ้อยเป็นน้ำตาลซูโครส นอกจากนี้ก็มีน้ำตาลกลูโคส และน้ำตาลฟรักโทสอยู่ด้วย ซึ่งทั้งสองชนิดนี้รวมเรียกว่าน้ำตาลอินเวิร์ต (invert sugar)

ในทางการค้า น้ำตาลจากอ้อยมีชื่อเรียกต่างกันตามความบริสุทธิ์ (ICUMSA) และกรรมวิธีในการผลิต เช่น น้ำตาลแดงหรือน้ำตาลทรายแดง (brown sugar, gur, jaggery, muscovado) น้ำตาลดิบหรือน้ำตาลทรายดิบ (raw sugar) น้ำตาลอ้อยธรรมชาติ (cane sugar) น้ำตาลทรายขาว (white sugar หรือ plantation white sugar) น้ำตาลทรายบริสุทธิ์ หรือน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์(refined sugar) น้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์พิเศษ (supre refined sugar) เป็นต้น

ในการผลิตน้ำตาลทรายจากอ้อยโดยตรงนั้นมีผลผลอยได้ (by-products) เกิดขึ้น หลายอย่าง ที่สำคัญได้แก่ ชานอ้อย กากตะกอน (filter mud, filter cake) และกากน้ำตาล (molasses) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ได้อย่างกว้างขวาง


ชานอ้อย หมายถึง ส่วนของลำต้นอ้อยที่หีบเอาน้ำอ้อย หรือน้ำตาลออกแล้ว ชานอ้อยใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง

1. ใช้เป็นเชื้อเพลิง สำหรับผลิตไอน้ำ และกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในโรงงานน้ำตาลนั่นเอง

2. ใช้ผลิตวัสดุก่อสร้างโดยอาศัยกาว เช่น อัดเป็นแผ่น (particle board) ไม้อัดผิวเส้นใย (fiber-overlaid plywood) และแผ่นกันความร้อน (insulating board) เป็นต้น

3. ใช้ผลิตเยื่อกระดาษ (pulp) และกระดาษชนิดต่างๆ

4. ใช้เป็นอาหารสัตว์ ชานอ้อย ถ้าให้สัตว์กินโดยตรงมักจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับรสชาติ การย่อยของสัตว์ ตลอดจนมีอัตราส่วนต่ำระหว่างอาหารที่สัตว์กินกับน้ำหนักตัวที่เพิ่ม วิธีที่ดีก็คือ นำมาหมักก่อนที่จะให้สัตว์กิน

5. ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมผลิต furfural, furfuryl alcohol และ xylitol

6. ใช้ทำปุ๋ยหมัก โดยหมักร่วมกับปุ๋ยคอก กากตะกอน หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังใช้ปูคอกสัตว์ เพื่อรองรับมูลสัตว์ และทำปุ๋ยหมักต่อไป

7. ใช้เป็นวัตถุคลุมดิน เพื่อรักษาความชื้นของดิน และป้องกันวัชพืช

กากตะกอนหรือขี้ตะกอน หมายถึง สิ่งเจือปนที่เป็นของแข็งที่ไม่ละลายน้ำอยู่ในน้ำอ้อย สิ่งเจือปนเหล่านี้จะถูกขจัดออกไปจากน้ำอ้อยในขบวนการทำใส (clarification) กากตะกอนโดยทั่วไปมีลักษณะป่นเป็นชิ้นเล็กๆ สีเทาเข้ม ส่วนประกอบของกากตะกอนไม่ค่อยแน่นอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพ และความสะอาดของอ้อย ตลอดจนกรรมวิธีการผลิตของโรงงานนั้นด้วย การใช้ประโยชน์ของกากตะกอนมีดังนี้

1. ใช้เป็นปุ๋ยบำรุงดินได้ดี ข้อควรระวังในการใช้กากตะกอนทำปุ๋ยก็คือ ต้องไม่ใส่มากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดความร้อน เนื่องจากการสลายตัวยังไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ต้องระวังเชื้อราที่ติดมาด้วย เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อาจใช้วิธีหมักโดยกองไว้ในร่มให้ความชื้นพอเหมาะ คลุมด้วยพลาสติก ผ้าใบ หรือกระสอบเก่า เพื่อให้สลายตัวโดยสมบูรณ์ กากตะกอนที่สลายตัวดีแล้วจะเย็น การหมักอาจใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน

2. ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตไข ไขที่ได้จากอ้อยสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมหลายอย่าง เช่น อุตสาหกรรมผลิตสารขัดเงา ผลิตหมึกสำหรับกระดาษคาร์บอน และผลิตลิปสติก เป็นต้น

กากน้ำตาล 
คือ ของเหลวมีลักษณะเป็นน้ำเชื่อมสีน้ำตาลเข้ม ของเหลวนี้จะถูกแยกออกจากเกล็ดน้ำตาลโดยวิธีปั่น (centrifuge) ส่วนประกอบของกากน้ำตาลแตกต่างกันไปตามโรงงาน

กากน้ำตาลสามารถใช้ประโยชน์ได้กว้างขวางกว่าผลพลอยได้ชนิดอื่นๆ ทั้งหมด ประโยชน์ที่ได้จากกากน้ำตาลมีมากมาย เช่น ใช้ทำปุ๋ย ใช้เลี้ยงสัตว์ ใช้ผลิตอัลกอฮอล์ ใช้ในอุตสาหกรรมยีสต์ ใช้ทำผงชูรส และใช้ทำกรดน้ำส้ม เป็นต้น



บทความที่เกี่ยวข้อง
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้
เปรียบเทียบสินค้า
0/4
ลบทั้งหมด
เปรียบเทียบ
Powered By MakeWebEasy Logo MakeWebEasy